ประมวลภาพกิจกรรม
ประกาศเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 เปิดดู 1255 ครั้ง ย้อนกลับ พิมพ์
ร่วมเปิดนิทรรศการ “เชื่อม รัด มัด ร้อย เรียนรู้ วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงแสน” ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว


เชียงรายเปิดนิทรรศการ “เชื่อม รัด มัด ร้อย เรียนรู้ วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงแสน”
ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว
วันพุธ ที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.
           นายเสริฐ  ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายวัชรากร  นาคทองกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ได้เข้าร่วมเปิดกิจกรรมนิทรรศการ “เชื่อม รัด มัด ร้อย เรียนรู้ วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงแสน” ณ วัดเจดีย์หลวง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดกิจกรรมนิทรรศการครั้งนี้ พร้อมด้วยนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวกีฬาจังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชื่อม รัด มัด ร้อย ตลอดจนเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน เทศบาลตำบลบ้านแซว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม เพื่อการเรียนรู้วิธีการปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วยวัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภูมิปัญญาของชาวเชียงแสน กับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ผ่านการเล่าเรื่องโดย "น้องใบสัก" ซึ่งสัญลักษณ์ของการจัดงาน
           สำหรับกิจกรรม“เชื่อม รัด วัฒนธรรม มัด ร้อย เรียนรู้วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติ พื้นที่เขตเมืองเก่าเชียงแสน” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น . ณ วัดเจดีย์หลวง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ภายในงานมีกิจกรรมการสาธิต และเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงแสน ประกอบด้วยฐาน “ตัด แต่ง แป๋ง ลาย” ตัดกระดาษรูปต่างๆ เช่น พระธาตุ ปราสาท พญานาค ตุงฐาน “จัด แต่ง แป๋ง ดา” ทําเครื่องสักการะไหว้ พระธาตุ เช่น ทําสวยดอก สวยกาบ ทําดอกผึ้ง ฐาน “มัด ฝ้าย ใย ตุง” การทําตุงใยแมงมุมจากฝ้ายหลากสี เพื่อเป็นเครื่อง “อารักษ์เมือง” และทำหน้าที่เป็นสื่อในการเรียนรู้คุณค่า ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาและเมืองเก่าเชียงแสน
          นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดนิทรรศการ เชื่อม รัด มัด ร้อย เรียนรู้วัฒนธรรม ปกป้องธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่มุ่งเน้นไปที่การแสดงความสร้างสรรค์ การต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จากวิถีอัตลักษณ์ท้องถิ่นเชียงแสน ระบบนิเวศ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ จับต้องไม่ได้ ทําให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน