ประมวลภาพกิจกรรม
ประกาศเมื่อ 17 ธันวาคม 2564 เปิดดู 1261 ครั้ง ย้อนกลับ พิมพ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจัดประชุมปฐมนิเทศ หารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย ให้ครบทุกมิติ


          วันศุกร์ ที่ 16 ธันวาคม 2564 เวลา 8.00 น. นายเสริฐ  ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายวัชรากร  นาคทองกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมภูชี้ฟ้า ภูฟ้า วารี เชียงราย รีสอร์ท จัดโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมี นาย บัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานเปิดกิจกรรมครั้งนี้ และนางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจักการลุ่มน้ำ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่มให้ครอบคลุมทุกมิติ

          สำหรับเวียงหนองหล่ม มีเนื้อที่ประมาณ 15,240 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตตำบลจันจว้า ตำบลจันจว้าใต้ ตำบลท่าข้าวเปลือก ของอำเภอแม่จัน และตำบลโยนกอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพเป็นหนองน้ำร่วมกับพื้นที่ชื้นแฉะ เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดปี และมีโบราณสถานที่สำคัญ แต่ปัจจุบันประสบปัญหาการถือครองที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การตื้นเขินจากตะกอนดินที่สะสมเป็นเวลานานในพื้นที่หนองน้ำ เกิดภาวะน้ำท่วมหลากในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษา ทบทวน และจัดทำรายงานแผนในทุกมิติ รวบรวมหลักฐานข้อมูลแหล่งน้ำ รวมทั้งได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อมาใช้ประกอบการศึกษาโครงการให้สมบูรณ์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565

          ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอที่มาแนวทางการพัฒนาและดำเนินโครงการ มารตการการลดและป้องกันผลกระทบต่างๆ ในเบื้องต้นให้ที่ประชุมรับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ และพัฒนาทางเลือก ในเวทีกลุ่มย่อยต่อไป โดยภาคประชาชนได้แสดงความห่วงกังวลในประเด็นที่ต้องศึกษาผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งชุ่มน้ำ แหล่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดอารยธรรมล้านนา วิถีชิวิตดั่งเดิมของชุมชนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ และการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ ยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชนและพื้นที่เชื่อมโยงในระยะยาว