• เปิดดู
    933
เครื่องเคลือบดินเผาโบราณเวียงกาหลง ทัน ธิจิตตัง

"สล่าทัน ธิจิตตัง" เป็นลูกหลานชาวนาที่ถือกำเนิดในชุมชนเวียงกาหลง ได้เล็งเห็นคุณค่าและมีความรู้สึกสูญเสีย ทรัพย์สินอันมีค่าที่มีอยู่ในเวียงกาหลง เมื่อชาวบ้านไปช่วยกันขุดเศษซากเตาโบราณ และเครื่องเคลือบดินเผาไปขาย สล่าทัน จึงได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมา และร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนเวียงกาหลง และเครื่อง เคลือบดินเผาเวียงกาหลง ทำให้สล่าทันได้เรียนรู้กรรมวิธีการผลิต การเผา วัตถุดิบที่สำคัญคือ ดินที่อยู่ในพื้นที่เวียงกาหลง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความเบาของเนื้อดินและบางหลังจากการเผา รวมถึงลาดลายที่วิจิตรงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ ของเวียงกาหลง จึงได้ทำการทดลองผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ สามารถผลิตเครื่องเคลือบที่มี คุณสมบัติใกล้เคียงกับเครื่องเคลือบดั้งเดิม

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง

 

นายทัน ธิจิตตัง

 ผู้ผลิต กลุ่มสล่าบ้านทุ่งม่าน ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

 ชื่อหัวหน้ากลุ่ม นายทัน ธิจิตตัง

 ที่อยู่ ๙๗ บ้านทุ่งม่าน หมู่ ๓ ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โทร. ๐ ๙๘๓๘ ๕๘๗๔

 ชื่อผลิตภัณฑ์ - ไหกิเลน เทพ หงส์ และพันธุ์ไม้

  - จานลายปลาคู่ ลายปลาคู่ปากแหลม ลายสระบัว ลายกาหลง

  - ไหลายวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทงฯลฯ ฯลฯ

 จำนวนเครือข่ายผลิต ๓๔ คน

 ผลงาน - ได้รับการคัดสรร OTOP ระดับ ๔ ดาว ปี ๒๕๔๖

  - มีประสบการณ์การทำงาน ๒๒ ปี (เริ่มปี พ.ศ.๒๕๒๖)

  - ได้รับการสัมภาษณ์ ตีพิมพ์เผยแพร่จากนิตยสาร วารสารมากมาย

  - การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนใน 2 สาขาก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งนักวิชาการในท้องถิ่น และประชาชนผู้เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในการที่จะร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ จะดำเนินการประกาศสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยในปีต่อไป

      มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนมี 2 ประเภท

   ประเภทแรก ศิลปะการแสดง 12 รายการ ด้านการแสดง ได้แก่ โขน หนังใหญ่ ละครชาตรี โนรา หนังตะลุง ด้านร้องเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ ซอล้านนา หมอลำพื้น หมอลำกลอนลำผญา เพลงโคราช  ดีเกร์ฮูลู ด้านดนตรี ได้แก่ สะล้อ ซอ ปิน

   ประเภทที่สอง งานช่างฝีมือดั้งเดิม 13 รายการ ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ได้แก่ ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ผ้าแพรวา ผ้าทอนาหมื่นศรี เครื่องจักสาน ได้แก่ ก่องข้าวดอก เครื่องจักสานย่านลิเภา เครื่องปั้น ดินเผา ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง เครื่องโลหะ ได้แก่ มีดอรัญญิก กระดิ่งทองเหลือง กริช เครื่องไม้ ได้แก่ เกวียนสลักลาย เครื่องหนัง ได้แก่ รูปหนังตะลุง เครื่องประดับ ได้แก่ เครื่องทองโบราณสกุลช่างเมืองเพชร และงานศิลปกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ ปราสาทศพสกุลช่างลำปาง

 

 จุดเด่นผลิตภัณฑ์ มีสายการผลิตที่เด่นชัด คือ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1) การผลิตด้านการอนุรักษ์ เน้นการเลียนแบบให้เหมือนศิลปะดั้งเดิม ของเวียงกาหลง โดยศึกษาจากเศษชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ที่ขุดพบในหมู่บ้าน เช่น ไหลายต่าง ๆ

  2) การผลิตด้านศิลปะร่วมสมัยเป็นการนำศิลปะสมัยโบราณมาผสมผสานกับศิลปในปัจจุบัน เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นของที่ระลึกต่าง ๆ

  3) การผลิตงานนูนต่ำและลอยตัว เป็นงานปั้นสัตว์ในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น สิงห์ กิเลน ฯลฯ มีความประณีตในงานทุกชิ้นมาก ไม่ใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมี ใช้วัตถุดิบของพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่ ดิน สี เทคนิคการเผา เคลือบแบบดั้งเดิมที่ผู้ผลิตศึกษา ค้นคว้าและดำเนินงานด้วยตนเอง

 

 "ทัน ธิจิตตัง" คุณลุงวัย 50 ปี ในฐานะประธานกลุ่มเครื่องเคลือบเวียงกาหลงแบบโบราณ ผู้ชำนาญการด้านเครื่องเคลือบ บอกเล่าความเป็นมาของเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ว่าเพราะเวียงกาหลง เป็นแหล่งกำเนิดของความเจริญด้านศิลปะและศาสนา โดยเฉพาะ "เครื่องถ้วย" กระทั่งประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องละทิ้งบ้านเมือง ทำให้ "เวียงกาหลง" กลายเป็นเมืองร้างอยู่หลายพันปี ต่อมาชาวบ้านจึงได้กลับมาก่อตั้งชุมชนขึ้นใหม่อีกครั้ง คุณลุงทันบอกว่า ถ้าพูดถึงเวียงกาหลง ทุกคนจะรู้โดยทันทีว่าเป็นแหล่งที่มีเครื่องเคลือบที่ดีที่สุดของล้านนา เพราะดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบมีคุณภาพดี "ที่สำคัญคนเวียงกาหลงได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเครื่องเคลือบมาจากอดีต โดยมีลักษณะเด่น คือ น้ำหนักเบา เนื้อบาง ดินที่นำมาทำเครื่องเคลือบ จากการศึกษาสำรวจของนักวิชาการเขาบอกว่า เป็นดินลาวา เพราะแต่ก่อนในย่านนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดการระเบิดของภูเขาไฟมาแล้ว ทำให้ดินที่สะสมมานานหลายพันปีนั้น เป็นดินที่เกิดจากการย่อยสลายของลาวา ซึ่งชาวบ้านได้ค้นพบและนำมาทำเครื่องเคลือบ จึงทำให้น้ำหนักเบา ทนไฟได้สูง เมื่อเคลือบไฟสูงก็ยังสามารถรักษารูปทรงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี"

 คุณลุงทันบอกเล่าถึงสาเหตุทุกคนในชุมชนต้องอนุรักษ์เครื่องเคลือบเวียงกาหลงเอาไว้ ว่า เพราะวัตถุโบราณของเวียงกาหลงเคยถูกคนต่างชาติ และพ่อค้าของเก่า มากว้านซื้อไปขายเป็นจำนวนมาก ทั้งขายในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ เพราะความโลภและมองไม่เห็นคุณค่าของวัตถุโบราณเวียงกาหลง

"เครื่องเคลือบเวียงกาหลงสมัยโบราณเป็นอย่างไร มาถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างยังคงความเป็นต้นแบบของโบราณ แม้กระทั่ง "ขี้เถ้า" ก็ยังใช้ทำน้ำเคลือบเช่นที่เคยเป็นมา คือจะเคลือบน้ำเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ ลักษณะน้ำเคลือบจะใส มีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน และสีเหลืองอ่อน มักมีรอยแตกราน

"ที่หมู่บ้านยังเก็บเครื่องถ้วยลายโบราณแบบเดิมๆ ของเวียงกาหลงเอาไว้จำนวนมาก เพื่อให้ผู้คนที่สนใจได้มาเห็นมาดู เพราะต่อไปในอนาคตไม่แน่ว่าจะหาดูได้อีก เนื่องจากความเก่าแก่ของเครื่องถ้วย ทำให้ลายบางลายแตกสลายไปก็มี บางลายเก็บเอาไว้ได้แต่ก็แตกหักไม่คงสภาพเดิม แต่เราก็ไม่ทิ้งจะเก็บเอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นลวดลายที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต"ไม่เพียงแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เรื่องเครื่องถ้วยโบราณเวียงกาหลงเท่านั้น แต่คุณลุงทันยังได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับเยาวชนรุ่นหลังด้วย "เพราะต้องการสอนให้ลูกหลานได้รู้จักอดีตและที่มาของวัตถุโบราณชนิดนี้ เมื่อมีใครเขาถามจะได้ตอบเขาได้ ไม่ขายหน้าที่เป็นคนในท้องถิ่น และสามารถเล่าความเป็นมาของตัวเองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ"เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ลายไม่เหมือนที่อื่น เช่น ลายที่เป็นที่รู้จักกันมาก คือ "รูปตัวกา" บินมารวมกันเป็นรูปดอกไม้ ลวดลายที่ปรากฏบนผิวเครื่องเคลือบมักจะบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น หรือถ้าเป็นลายดอกไม้ พรรณไม้ ก็มักเป็นพันธุ์ไม้ที่มีในเวียงกาหลง

ปัจจุบันมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำเครื่องเคลือบเวียงกาหลงประมาณ 8 กลุ่ม โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเวียงกาหลง เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด โดยการทำเครื่องเคลือบ 70% ยังรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ ส่วนอีก 30% เป็นการประยุกต์รูปแบบใหม่ เช่น จานข้าว แก้วน้ำ กาน้ำชา และของตกแต่งบ้าง

เยี่ยมบ้าน สล่าทัน


เดินตามมาดู ที่ร้านขาย ของดีกว่า


 
ข้อมูลเพิ่มเติม https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/88624

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: บ้านสล่าทัน ธิจิตตัง 97 ม.3 ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

โทร / แฟ็กซ์ :: 089-8385874

โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: -