ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2561
ในวันที่ 28 ก.พ.61-1 มี.ค.61

พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นโบราณสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา สร้างมาแต่โบราณกาล และเป็นหลักฐานแรกที่พระพุทธศาสนา เข้ามาประดิษฐานในล้านนา ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๔๕๔ เมื่อแรกก่อสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ได้ทำธงตะขาบ หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ตุง” ใหญ่ ยาว หลายพันวา ปักไว้บนยอดดอยดินแดงคู่กับพระธาตุ ตุงขนาดมหึมานี้ ได้ทอดร่มเงาปกคลุมบ้านเมือง ที่ตั้งอยู่บนที่ราบเบื้องล่าง ให้มีความร่มเย็น ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งองค์พระธาตุ จึงได้รับการเรียกสืบต่อกันมาว่า “ดอยตุง”
 

งานประเพณีที่เกิดขึ้นทุกปี ในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ นั้น ประชาชน จะเตรียมตัวกันตั้งแต่ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ หรือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ โดยเฉพาะในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ จะมีประชาชนมาร่วมเดินนมัสการขึ้นพระธาตุมากที่สุด โดยจะเริ่มออกเดินทางจากทางขึ้นดอยประมาณ หกโมงเย็น พร้อมทั้งเตรียมอาหารสำหรับบิณฑบาตเพื่อจะได้ร่วมทำบุญใหญ่ในวันเช้าตรู่ของ วันขึ้น ๑๕ ค่ำด้วย โดยในการเดินทางนั้น ประชาชนจะค่อยๆ เดินขึ้นไปตามทางที่ลาดชัน และจะไปถึงบริเวณวัดน้อย (วัดพระธาตุดอยตุง ในเขตสังฆวาส) ในเวลาประมาณตีสี่ ซึ่งทางวัดจะเปิดเครื่องขยายเสียงแบบโบราณ สลับกับเสียงพระสวดเบิก หรือ เสียงพระสวดมนต์ที่มีความพร้อมเพรียงกันในเวลาเช้าตรู่ เพื่อให้ประชาชนได้ยินเสียงและมีกำลังใจที่จะเดินต่อให้ถึง เนื่องจากว่าในสมัยก่อนไม่มีถนนเพื่อให้การเดินทางสะดวก และไม่มีไฟฟ้าเพื่อส่องนำทาง จึงมีเพียงศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนเท่านั้น ที่จะนำไปให้ถึงองค์พระธาตุตามที่ได้ตั้งใจไว้

 

 
ขอบคุณเนื้อหาข่าว / ภาพ จาก : เชียงรายโฟกัสดอทคอม