• เปิดดู
    958
วนอุทยานภูชี้ฟ้า

ประวัติ ภูชี้ฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของเทือกดอยผาหม่น ที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ด้าน จ.เชียงราย-พะเยา ลักษณะเป็นหน้าผาหินตั้ง อยู่บนเส้นกั้นพรมแดนพอดี ในอดีต เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท. ด้วยสภาพภูมิประเทศที่สูงชัน จึงเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญ ชาวลาวและชาวไทย ในพื้นที่เรียกผาหินที่ชี้เหยียดตรงขึ้นไปบนฟ้าว่าภูฟ้า เมื่อปัญหาด้านความมั่นคงคลี่คลาย มีการตัดถนนขนานแนวชายแดน ไทย-ลาว จากบ้านผาตั้ง ภูชี้ฟ้า ไปถึง อ.เชียงคำ ภูชี้ฟ้าจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม บนยอดภูชี้ฟ้า เป็นจุดที่ยื่นจากแนวเขตพรมแดน จึงไม่สามารถระบุชัดได้ว่า อยู่ในเขตไทยหรือลาว แต่ทางขึ้นสู่ยอดภูชี้ฟ้านั้นอยู่ในเขตไทย เคยมีการปักธงชาติไทยบนปลายสุดของหน้าผา แต่ในวันถัดมา ทหารลาวก็จะนำธงลาวมาปักเคียงคู่กันด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงห้ามนักท่องเที่ยวพักแรมบนภูชี้ฟ้า

วนอุทยานภูชี้ฟ้า
อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ป่าโซน C ตามแผนที่ ZONING เนื้อที่ที่สำรวจและเห็นควรจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ประมาณ 2,500 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จดทางหลวงจังหวัดสาย 1093
- ทิศใต้ จดสันเขา
- ทิศตะวันออก จดสันเขา / ชายแดนไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก จดทางหลวงจังหวัดสาย 1093 ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่วนอุทยานเป็นยอดเขาสูงในเทือกเขาดอยผาหม่น ติดชายแดนไทย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ถึง 1,628 เมตร จุดสูงสุดคือ บริเวณจุดชมวิว มีความลาดชันเฉลี่ยทั่วพื้นที่ประมาณ 40 เปอร์เซนต์

ลักษณะภูมิอากาศ อากาศบนภูเขาจะค่อนข้างเย็นแต่ฤดูกาลจะเป็นแบบมรสุมเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์

พืชพรรณและสัตว์ป่า
- เป็นป่าดิบเขา ยกเว้นบนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้าประมาณ 300 ไร่ ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เสี้ยวดอกขาว ก่อเดือย ก่อก้างด้าง ก่อแดง ก่อน้ำ ก่อแป้น ก่อสีเสียด อบเชย กำยาน หว้า เหมือด สารภี จำปาป่า จำปีป่า พันธุ์ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เอื้องดิน หญ้าคา หญ้าแฝก หญ้าหางหนู หญ้าสามคน หญ้าไม้กวาด หญ้าเลา มอส เฟิร์นชนิดต่าง ๆ
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบเห็นได้แก่ เก้ง กระจง หมูป่า อีเห็น ชะมด เสือไฟ เสือ ปลา แมวป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า เพียงพอน กระรอกบิน กระรอก กระแต
- นกที่พบเห็นได้แก่ นกเขา เหยี่ยว นกกระสา นกอินทรี นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกแสก นกกระปูด นกเอี้ยง นกกางเขน นกขมิ้น นกกระทาดง นกกวัก นกกิ้งโครง นกขุนทอง นกแซว นกนางแอ่น นกยูง นกตะขาบ นกหัวขวาน นกดุเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่พบเห็นได้แก่ เต่า กบ เขียด คางคก ปาด อึ่งอ่าง
- สัตว์เลื้อยคลาน ที่พบเห็นได้แก่ งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแกป่า กิ้งก่าบิน กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมลงป่อง กิ้งกือ
- ปลาที่พบเห็นได้แก่ ปลาแก้ม ปลาข้างลาย ปลาก้าง ปลาขาว ปลาซิว

แหล่งท่องเที่ยว: ภูชี้ฟ้า เป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาดอยผาหม่น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,628 เมตร ด้านที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีหน้าผาสูงชัน เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทางห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือ ออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา กิจกรรม : ชมพรรณไม้ แค็มป์ปิ้ง ชมทิวทัศน์ (ผาชี้ฟ้า เป็นหน้าผาหินที่มีลักษณะโดดเด่น คือ คล้ายนิ้วชี้ที่ชี้ตรงออกไปยังทิศตะวันออก ภูชี้ฟ้าอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,628ม. จากระดับน้ำทะเล หน้าผาหินเป็นทางลาดชัน ปกคลุมด้วยหญ้า ไม้พุ่ม และโขดหิน ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้นเลย สามารถเดินลัดเลาะไปจนถึงสุดปลายของหน้าผา ที่ยื่นออกไปได้ แต่จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพ จะเป็นหมู่หินใหญ่ริมหน้าผา ก่อนถึงปลายสุดของภูชี้ฟ้าประมาณ 300 ม. ชมทะเลหมอก จากภูชี้ฟ้า สามารถมองลงไปเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา ในเขต ต.เชียงตอง ฝั่งลาว และเทือกเขาสลับซับซ้อน ไกลออกไปลิบๆ คือแม่น้ำโขง ที่ไหลขนานไปกับเทือกดอยผาหม่น ในช่วงเช้าตรู่ หุบเขาเบื้องล่างจะปกคลุมด้วยสายหมอก ทิวทัศน์จะยิ่งงดงาม เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ภูชี้ฟ้าหันไปทางทิศตะวันออก จึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมมาก นักท่องเที่ยว จะออกจากที่พัก เริ่มเดินเท้าขึ้นไปยังจุดชมวิว ตั้งแต่ก่อนสว่าง)

สิ่งอำนวยความสะดวก - ที่พัก วนอุทยานภูชี้ฟ้า ไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ส่วนเรื่องอาหารต้องจัดเตรียมไปเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่ที่หัวหน้าวนอุทยานภูชี้ฟ้าโดยตรง รายละเอียดสอบถามได้ที่สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 จังหวัดเชียงราย โทร. (053) -714914 หรือฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-25614292 -3 ต่อ 719 ในวันและเวลาราชการ - ห้องน้ำ

การเดินทาง
++ ทางรถยนต์ส่วนตัว
การเดินทางไปยังภูชี้ฟ้า ได้สามเส้นทาง คือ 1.เส้นทางด้าน อ.เทิง  2.เส้นทางผ่าน อ.เชียงของ 3.เส้นทางจาก อ.เชียงคำ

                1. เส้นทางแรกใกล้และสะดวก สภาพถนนดี รถเก๋งสามารถไปถึงได้ จากสี่แยกแม่กรณ์ตัวเมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 (เชียงราย-เทิง) ระยะทาง 64 กม. ถึง อ.เทิง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1021 (เทิง-เชียงคำ) อีก 6 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ที่หลัก กม.94  (สามแยกปางค่า) เป็นทางลาดยางแต่ค่อนข้างแคบ คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ผ่านปางคำ บ้านรักถิ่นไทย บ้านรักแผ่นดิน และบ้านแผ่นดินทอง เมื่อถึงหลัก กม.25 (ให้เลี้ยวขาวสามแยกบ้านเชงเม้ง) จะเป็นทางโค้งขึ้นเขาชัน มีแยกขวามือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1093  ซึ่งจะเลียบแนวชายแดนไทย-ลาว ไป อ.เชียงคำ จ.พะเยา ผ่านบ้านราษฎร์ภักดี (บ้านเช็งเม้ง) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้ง ระยะทางรวม 11 กม. มีทางแยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปยังจุดชมวิวภูชี้ฟ้า ทางช่วงนี้ลาดยางเรียบ แต่สูงชันและคดเคี้ยว ระยะทาง 1.7 กม. ผ่านที่ทำการวนอุทยานภูชี้ฟ้า ไปสิ้นสุดที่ลานจอดรถ   จากจุดนี้ เดินเท้า 760 เมตร

                2. หากมาจาก อ.เชียงของ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 (เชียงของ-เทิง) ระยะทาง 15 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1155 มีป้ายบอกทางไปภูชี้ฟ้า เห็นได้ชัดเจน ระยะทาง 95 กม. ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่าน อ.เวียงแก่น (กม.70) สามแยกบ้านปางหัด ทางแยกขึ้นดอยผาตั้ง (กม.52) เมื่อถึงหลัก กม.42 เป็นถนนลูกรังอัดแน่นไปจนถึงหลัก กม.28 จากนั้นถนนจะไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1093 ตรงหลัก กม.27 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1093 ไปภูชี้ฟ้า อีก 11 กม. เช่นเดียวกับเส้นทางจาก อ.เทิง

                3. เส้นทางมาจาก อ.เชียงคำ จ.พะเยา ทางหลวงหมายเลข 1021 ให้เลี้ยงเข้าเส้นทางไปน้ำตกภูซาง หลวงหมายเลข 1093 ผ่านน้ำตกภูซาง (น้ำตกอุ่น) -ผ่านตลาดนัดไทย-ลาว.บ้านฮวก (เปิดทุกวันที่ 10,20,30) –ผ่านเกษตรที่สูงผาหม่น (ดอกทิวลิป ม.ค.-ก.พ.) และเดินทางเข้าสู่ภูชี้ฟ้า

                *** ถ้าไปเที่ยวชมดอยผาตั้ง ก็สามารถเดินทางต่อไปภูชี้ฟ้าได้ แต่ควรใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพราะถนนค่อนข้างคดเคี้ยวสูงชัน บางช่วงเป็นลูกรังอัด โดยจากดอยผาตั้ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1093 ระยะทางประมาณ 20 กม. ผ่านหมู่บ้านตามแนวชายแดน คือ บ้านร่มฟ้าผาหม่น ร่มฟ้าไทยงาม ร่มฟ้าหลวง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านร่มฟ้าทอง สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยาง สลับกับลูกรังอัดเป็นช่วงๆ ไปบรรจบกับทางแยกซ้ายทางหลวงหมายเลข 1093 (ไปเกษตรที่สูงผาหม่น-ตลาดนัดไทย-ลาว.บ้านฮวก-น้ำตกภูซาง, อ.เชียงคำ จ.พะเยา) ซึ่งผ่านทางแยกขึ้นภูชี้ฟ้าได้อีกเส้นทางหนึ่ง

++ รถประจำทาง นั่งรถบัสสีฟ้าขาว สายเชียงราย-เทิง-เชียงคำ หรือ เชียงราย-เทิง-เชียงของ จากนั้นต่อรถสองแถวสีฟ้าสายเทิง-ปางค่า ท่ารถอยู่หลังตลาด อ.เทิง เข้าทางเข้าวัดพระนาคแก้ว ด้านข้างที่ว่าการอำเภอมีรถตั้งแต่ 06.00 น. เวลาออกไม่แน่นอน ต้องถามคนขับว่า จะไปภูชี้ฟ้าหรือไม่ ค่ารถ 50 บาท หรือเช่ารถสองแถว คิวรถอยู่หลังตลาดเทิง โทร. 053-795986 (คุณสุทิน 08 6118 6387, คุณประถม 08 4741 5063) หรือติดต่อที่ปั๊มบางจาก อ.เทิง โทร.053-669-100

                *** ช่วงฤดูท่องเที่ยว (พ.ย.-ก.พ.) มีรถตู้บริการจากสถานีขนส่ง จ.เชียงราย-ภูชี้ฟ้า เที่ยวไป 07.15, 13.15 น. เที่ยวกลับ 09.30, 15.30 น. วิ่งประมาณ 2 ชม. ค่าบริการ 120-150 บาทต่อคน (บริษัท ก.สหกิจเดินรถ จำกัด โทร. 053-742429)

+++ ขึ้นไปชมทิวทัศน์ เวลา 04.30 - 18.30 น. +++

ผู้รับผิดชอบดูแล: สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) 775 ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โทร.0-5371-1402                              

สอบถามรายละเอียดข้อมูลการเดินทางสู่ภูชี้ฟ้าได้ที่

- องค์การบริหารส่วนตำบลตับเต่า โทร. 08 1724 0052, (นายกฯ 08 6189 4611)
- วนอุทยานภูชีฟ้า (หัวหน้าฯ 08 1883 4510) เอาเต้นท์มาเองกลางฟรี บริเวณที่จุดจอดรถบนภูชี้ฟ้า หากเช่าเต้นท์ 250 บาทต่อเต้นท์ (2 คน)
- เกษตรที่สูงผาหม่น 053-918555 (ฤดูท่องเที่ยวติอต่อช่วงเช้ากับเย็น-ช่วงกลางวันออกพื้นที่)
- ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง (ห้วยสัก) 053-711402
- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อ.เทิง ที่ว่าการ อ.เทิง โทร.053-795345
- สำนักงาน ททท. ภาคเหนือ เขต 2 โทร. 053-744674-5, 053-717433 โทรสาร 053-717434

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: วนอุทยานภูชี้ฟ้า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่อิงฝั่งขวาและป่าแม่งาว ท้องที่บ้านร่มฟ้าทอง หมู่ที่ 9 ต.ปอ อ.เวียงแก่น และบ้านร่มฟ้าไทย หมู่ 10 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย

โทร / แฟ็กซ์ :: 081-8834510

โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: http://www.dnp.go.th/parkreserve/asp/style2/default.asp?npid=65&lg=1