ประวัติความเป็นมา
ดอยบ่อเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,345 เมตร ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของตำบล ยอดเขามีบ่อน้ำ แต่ในปัจจุบันไม่มีน้ำขัง อันเนื่องมาจากสภาพป่าถูกทำลายลงไปมาก
พ.ศ. 2480 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณดอยบ่อซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สภาพป่าเป็นป่าดิบเขาที่อุดมสมบูรณ์ บ่อน้ำมีน้ำขังไว้สำหรับบริโภคได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในสมัยนั้นได้ให้ทหาร ตำรวจ และราษฎร ขึ้นมาประจำบนดอยบ่อเพื่อเฝ้าระวังเครื่องบินที่จะมาทิ้งระเบิดจังหวัดเชียงราย โดยกลางคืนใช้สัญญาณไฟ และกลางวันใช้สัญญาณกระจกเงา เพื่อเปิดสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชน ลงหลุมหลบภัยได้ทัน
พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผ่านไปแล้วชาวเขาเผ่าเย้ากลุ่มหนึ่งประมาณ 30 หลังคาเรือน ได้พากันอพยพขึ้นมาอยู่บนดอยบ่อบริเวณขุนห้วยแม่ซ้ายและชาวเขาเผ่าอาข่าอีกกลุ่มหนึ่งได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณขุนห้วยโป่งผำ และชาวเขาเผ่ามูเซออีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาอยู่บริเวณขุนห้วย แม่สักกอง ชาวเขาทั้ง 3 กลุ่มได้พากันแผ้วถางป่าเพื่อเอาพื้นที่ปลูกฝิ่นและทำไร่ข้าว ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมากจนดินหมดความอุดมสมบูรณ์ ชาวเขาเผ่าเย้าและ อาข่า จึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นคงเหลือแต่เผ่ามูเซอที่ยังอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้สภาพป่าบริเวณขุนห้วยแม่สักกองถูกทำลายมากที่สุด และบริเวณห้วยอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เนื่องจากถูกชาวเขาบริเวณข้างเคียงได้พากันเข้ามาทำไร่เลื่อนลอย เช่น ไร่ขิง ไร่ข้าว และไร่ข้าวโพด และยังได้ล่าสัตว์ป่าจนหมดไปหลายชนิด แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2488 บริเวณดอยบ่อ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าขนาดใหญ่นาๆ ชนิด เช่น ช้าง กระทิง เสือ เก้ง กวาง ฯลฯ แต่ปัจจุบันไม่มีเหลือแล้ว มีแต่สัตว์ป่าขนาดเล็กเท่านั้น เช่น เก้ง หมูป่า เห็น ลิง ไก่ป่า ฯลฯ
14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ได้เชิญ คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยราชเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษมาตรวจดูพื้นที่ดอยบ่อเพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ข้าราชการและองค์กรท้องถิ่น เช่น หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ซ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยาว ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยาว กำนันตำบลแม่ยาว และหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ยาว ได้พากันขึ้นมาต้อนรับและได้เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในบริเวณนี้ เช่น ปัญหาการแผ้วถางป่า ปัญหายาเสพติด และปัญหาความยากจนของประชาชนจน คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ รับปากที่จะนำขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตร พื้นที่ดอยบ่อ พลเอก ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ กล่าวถวายรายงานจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตร ที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ โดยมีแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 เป็นประธานคณะทำงาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เป็นผู้อำนวยการโครงการ โครงการมีพื้นที่ 15,000 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนสู่สภาพเดิม ในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตร ที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้รังวัดแบ่งพื้นที่ 543.73 ไร่ ไว้เพื่อทำแปลงสาธิตการทำการเกษตร แผนใหม่ เพื่อให้ราษฎรในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปทำในที่ดินของตนเอง และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของพลับพลาทรงงาน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตรงจุดพิกัด 47 QNC 702154 สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 956 เมตร หมู่บ้านที่อยู่ในโครงการ 3 หมู่บ้านได้แก่ บ้านจะต๋อ บ้านจะฟู หมู่ที่ 18 และบ้านลอบือ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีประชากรรวมกัน 617 คน 126 หลังคาเรือน
พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2547
1. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะขาด
แคลนน้ำ ซึ่งมีวิธีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มพื้นที่ป่า จึงให้สถานีพัฒนา การเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ดำเนินการปลูกป่าเพิ่มขึ้น
2. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงโปรดให้ นายสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วย
ราชเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ประสานงานกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมาดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่เพิ่มขึ้น
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ
1. จัดตั้งสถานีทดลองเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูก
หลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่อย่างจำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอเลี้ยงตนเองได้ และหยุดยั้งการบุกรุกแผ้วถางป่าขยายพื้นที่ทำกินของราษฎร
2. ทำการอนุรักษ์สภาพป่าบริเวณเทือกเขาดอยบ่อ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยแม่สักกอง
ลำห้วยโป่งผำ ลำห้วยต้นเมี่ยง ลำห้วยแม่ยาว (ห้วยแม่ซ้าย) และลำห้วยต่างๆ ให้กลับคืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม
3. สร้างงานให้ราษฎร ให้มีอาชีพมีรายได้ เป็นการช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาการ
ว่างงานของราษฎรและช่วยพัฒนาคูณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความ เป็นอยู่ที่ดีขึ้น
4. สร้างชุมชนทั้ง 3 หมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งเพื่อต่อต้านปัญหายาเสพติดและสกัด เส้นทาง
ลำเลียงยาเสพติดผ่านไปยังจังหวัดเชียงราย
เป้าหมาย
1. จัดตั้งสถานีทดลองเกษตรพื้นที่สูง ณ ดอยบ่อ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
โดยขอใช้พื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วประมาณ 543.73 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ จัดสร้างฝายกักเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำ และบ่อพักน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
2. ทำการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า บ้านจะต๋อเบอ บ้านจะฟู บ้านลอบือ อำเภอ
เมือง จังหวัดเชียงราย ปีละ 2 รุ่นๆ ละ 100 คน โดยทำเป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าบริเวณดอยบ่อ
3. จัดทำโครงการปลูกป่าเสริมพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยใช้พื้นที่ที่เหลือจากการจัดตั้งสถานี
ทดลองเกษตรพื้นที่สูง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม
4. จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้ราษฎรรวมกลุ่ม ในการบริหารจัดการวางแผนการผลิต และ
การตลาด การแปรรูปผลผลิตให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และการรวมกลุ่มกันจำหน่ายผลผลิตเพื่อไม่ให้ถูกกดราคา
5. ทำการจ้างงานในชนบทเพื่อยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ให้ดีขึ้น
โดยตั้งเป้าหมายของการพัฒนาปีแรก ให้ราษฎรทุกครัวเรือนมีรายได้สูงกว่า เส้นระดับความยากจนตามที่ทางราชการกำหนด
ที่ตั้ง
ปัจจุบันสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ตั้งอยู่บริเวณท้องที่หมู่บ้าน ลอบือ หมู่ 13 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อยู่ในแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ลำดับชุด L7017 หมายเลขระวาง 4949 III ที่ตั้งพลับพลาทรงงานอยู่พิกัด 47 QNC 0570200 E , 2215400 N ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 956 เมตร อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยบ่อ
ขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ
สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ มีพื้นที่รับผิดชอบรวมประมาณ 15,000 ไร่ ได้รังวัดแบ่งพื้นที่ 543.73 ไร่ ไว้เพื่อทำแปลงสาธิตการทำการเกษตรแผนใหม่เพื่อให้ราษฎรในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ ได้ศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปทำในที่ดินของตนเอง อยู่ในระวางแผนที่ 4949 III
ขอบเขตของสถานี
- ทิศเหนือ จรด กิ่วสะไต อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันออก จรด ขุนน้ำแม่ซ้าย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก จรด เขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ จรด ขุนน้ำแม่สาด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
การเดินทาง
จากศาลากลางจังหวัดเชียงรายผ่านสะพานแม่ฟ้าหลวงไปตามถนนสายเชียงราย บ้านกะเหรี่ยง
รวมมิตร ถนนระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนดินถึงสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อระยะทาง 17 กิโลเมตร รวม 35 กิโลเมตร
การคมนาคม
สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงราย 35 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจากตัวเมืองถึงทางเข้าสถานี 18 กิโลเมตร และเป็นถนนดินจากทางเข้าสถานีถึงสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยบ่อ อีก 17 กิโลเมตร
รวมข้อมูลประชากร
พื้นที่ดอยบ่อบริเวณที่สำรวจจัดทำโครงการไม่มีหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ แต่มีหมู่บ้านที่อยู่บริเวณ
ใกล้เคียง 3 หมู่บ้าน ดังนี้คือ
1.บ้านจะต๋อเบอ มี 53 หลังคาเรือน เป็นชาย 138 คน หญิง 136 คน มีประชากรรวม
274 คน เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 6 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง
2.บ้านจะฟู มี 19 หลังคาเรือน เป็นชาย 44 คน หญิง 45 คน มีประชากรรวม 89 คน
เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 5 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง
3.บ้านลอบือ มี 54 หลังคาเรือน เป็นชาย 136 คน หญิง 118 คน มีประชากรรวม 254 คน
เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่ห่างจากโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร อาชีพทำการเกษตร รับจ้าง
หัวหน้าผู้ประสานงานสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยบ่อ
นายวุฒิชัย โสมวิภาต
คณะทำงาน
1. นางสาวสายฝน ดูเหมา
2. นางพัทยา เขื่อนเพชร
3. นายนรินทร์ ไชยโน
4. นายสิทธิชัย ใจซื่อ