• เปิดดู
    905
วัดศรีดอนชัย หรือ “วัดตุงคำ”

วัดศรีดอนชัย เดิมชื่อ “วัดตุงคำ” ตั้งอยู่บริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงของปัจจุบัน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2400 ได้ย้ายมาสร้างวัดใหม่ทางทิศตะวันตก ติดกับประตูชัย (ที่ตั้งวัดปัจจุบัน) และได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดศรีดอนชัย” วัดศรีดอนชัย เป็นศูนย์กลางจัดการศึกษาของคณะสงฆ์อำเภอเชียงของ โดยได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2580 แผนกสามัญศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และเป็นสถานที่สอบธรรมสนามหลวงประจำอำเภอเชียงของ ประจำทุกปี และได้รับยกย่องจากกรมการศาสนาให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” เมื่อ พ.ศ. 2519 มีปูชนียวัตถุที่สำคัญอันเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนานิกชน คือ “ หลวงพ่อเพชร” ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงของ และพระธาตุศรีเวียงดอนชัย มีประเพณีสักการบูชาเป็นประจำทุกปีในวันมาฆบูชา

 
ประวัติความเป็นมา

              ราวปี 2465 ขณะที่ชาวบ้านบ้านเกี๋ยงใต้ ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ออกไปหาของป่าตามปกติ ใกล้หมู่บ้าน อันเป็นพื้นที่ป่าสัก ป่าไผ่ ซึ่งบริเวณนั้นยังคงมีร่องรอยของวัดร้าง และซากปรักหักพัง...

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้เห็น “พระโมลี” ของพระพุทธรูปโผล่พ้นเหนือพื้นดินขึ้นมา จึงได้ชวนกันลองขุดค้นดู ปรากฏว่า …พบพระพุทธรูปจำนวนมาก องค์เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง รวมถึงองค์ “หลวงพ่อเพชร” ชาวบ้านหลายคนจึงพากันมาขุด ทั้งหมดมีพระพุทธรูป จำนวน25 องค์ ชาวบ้านได้นำไปถวายวัด..แต่ก็ยังมีบางคน นำไปเป็นสมบัติส่วนตัว ส่วน “หลวงพ่อเพชร” ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดออกจากหลุม แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดได้ ผู้นำหมู่บ้าน จึงส่งเรื่องรายงานให้นายอำเภอและเจ้าคณะอำเภอทราบ

พระยาจิตวงษ์วรยศรังษี (น้อย จิตตางกูร) นายอำเภอเชียงของ และ พระครูโสภณจริยกิจ เจ้าคณะอำเภอ ในขณะนั้น จึงขอแรงชาวบ้านที่มีเกวียน ยกขบวนกันไปอาราธนา “หลวงพ่อเพชร” เพื่อมาประดิษฐานยัง “วัดศรีดอนชัย” ต.เวียง อ.เชียงของ

ชาวบ้านนำเกวียนมาร่วมขบวนประมาณ 4-5 เล่ม และได้เตรียมเกวียนขนาดใหญ่มา1เล่ม คือเกวียนแก๋น 8 ซึ่งใหญ่กว่าเกวียนปกติที่ใช้งานทั่วไป เป็นเกวียนของลุงน้อยสม ชัยวรรณะ เพื่อนำมาเคลื่อนย้ายหลวงพ่อเพชร โดยเฉพาะ และเกวียนทุกเล่มถูกประดับประดาไว้อย่างสวยงาม

การไปอาราธนาครั้งนั้นไม่ง่ายนัก!...

เมื่อไปถึงพบว่า มีชาวบ้านได้รายล้อมเฝ้าหลวงพ่อเพชรอยู่กลุ่มใหญ่ หรือเรียกว่าทั้งหมู่บ้าน และชาวบ้านเห็นว่า พวกเขาเป็นผู้พบและขุดขึ้นมา ควรจะเป็นสมบัติของชาวบ้านโดยชอบธรรม

นายอำเภอ จึงได้เจรจาและจูงใจให้ชาวบ้านยินยอมมอบหลวงพ่อเพชรให้ โดยให้เหตุผลว่าจะอัญเชิญไปเป็นที่สักการะบูชา ให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอเชียงของ โดยจะประดิษฐานที่วัดศรีดอนชัย ต.เวียง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอเชียงของ

ที่สุด…ชาวบ้านยินยอม แต่มีเงื่อนไขว่าให้ผู้ที่ร่วมขบวนยกกันเอง โดยชาวบ้านจะไม่ร่วมยกหลวงพ่อเพชรขึ้นสู่เกวียนเด็ดขาด

เวลานั้น หลวงพ่อเพชร ซึ่งถูกฝังเป็นเวลาหลายปี ทำให้บริเวณใต้ฐานมีดินอยู่เต็มฐาน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการยากมากที่จะยกเอาไปได้

อธิษฐาน เสี่ยงทาย..

นายอำเภอและคณะจึงหารือกันและตัดสินใจทำพิธีเสี่ยงทาย กับ เทพยดาอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ในวัดร้างแห่งนั้น โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสงฆ์

หลวงพ่อพระครูโสภณจริยกิจ และครูบาคำปัน จึงทำพิธีจุดธูปเทียนบูชา อธิษฐานว่า

“ ในการที่ฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองได้มาขออาราธนาหลวงพ่อก็เพราะหลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยงาม ถ้าจะให้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเกี๋ยงนี้ หมู่บ้านก็ยังไม่เจริญ จึงอยากให้หลวงพ่อไปประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดอนชัย ต.เวียง อ.เชียงชอง

ทางฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองจะได้สักการะบูชา เทอดทูนเอาไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสืบต่อไปภายหน้า และขณะนี้ฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองมีเจ้าเมืองเชียงของและชาวบ้านก็เตรียมเกวียนมาหลายเล่ม ประดับตกแต่งเรียบร้อยแล้ว เพื่อจะมาขออาราธนาหลวงพ่อ และตั้งขบวนแห่ไปในวันนี้ และพร้อมนี้ได้เตรียมคน 7 - 8 มาหามหลวงพ่อขึ้นเกวียน

ถ้าพวกข้าพเจ้าทั้งหลายมีบุญวาสนาจะได้กราบได้ไหว้สักการะหลวงพ่อก็ดีหรือถ้าหลวงพ่อได้เอ็นดูรับคำอาราธนาแล้วก็ดี ก็ขอคน 7-8 คนนี้ยกหลวงพ่อขึ้นและหามหลวงพ่อไปได้โดยง่าย ถ้าหลวงพ่อไม่อนุญาต และไม่รับคำนิมนต์ และจะประดิษฐานอยู่วัดบ้านเกี๋ยงนี้ก็ขออย่าขยับขัดเคลื่อนไปไหน”

กล่าวจบทุกคนกราบแล้วชายฉกรรจ์ทั้ง 8 คน ช่วยกันยกขึ้น …ปรากฏว่า…ยกขึ้นโดยง่าย แล้วทุกคนจึงกระวีกระวาดช่วยกันคนละไม้คนมือยก”หลวงพ่อเพชร”ขึ้นเกวียนที่เตรียมไว้!!!

ขบวนแห่และการเฉลิมฉลอง ณ วัดศรีดอนชัย

ในขบวนแห่กลับวัดศรีดอนชัยในวันนั้น…นำโดยเกวียนของพระยาจิตวงษ์วรยศรังษี ถัดมาเป็นเกวียนขนาดใหญ่ที่บรรทุกหลวงพ่อเพชร ซึ่งพระครูโสภณจริยกิจ นั่งมาด้วย จากนั้นก็เป็นเกวียนของ อำมาตย์ตรี ขุนภูมิพิเลขกิจ และตามด้วยข้าราชการและคณะชาวบ้านผู้ติดตาม

ขบวนได้ผ่านหลายหมู่บ้าน ผ่านบ้านเขียะ บ้านหวาย บ้านสถาน ทุ่งงิ้ว และถึงเวียงในเวลาเย็น โดยตลอดทางที่ผ่านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ศรัทธาชาวบ้านได้ถือขันข้าวตอกดอกไม้มาสักการะบูชา หลวงพ่อเพชร

พอถึงที่บ้านหัวขัว(บ้านผามงัว) ได้หยุดเพื่อรอคณะศรัทธาที่เตรียมอยู่ที่วัดเตรียมการต้อนรับ เมื่อพร้อมจึงนำขบวนเกวียนข้ามน้ำสมมายัง วัดศรีดอนชัย

ในวันนั้นมีเสียงฆ้อง กลองสะบัดไชย ดังสนั่นไปทั่วบริเวณ บรรยากาศฉ่ำเย็น ท้องฟ้าสีคราม ท่ามกลางแมกไม้หนาทึบ มีการเฉลิมฉลอง พระภิกษุสามเณรสวดชะยันโต มีการตีกลองมองเซิ่ง และการร่ายรำของสาวแก่แม่ม่าย ทั้งในและนอกวิหาร สร้างความอิ่มใจและความมีชีวิตชีวาให้กับชาวเมืองโดยทั่วกัน

เนื่องจากในวันที่ “หลวงพ่อเพชร” มาประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดอนชัยเวลานั้น ใกล้กับวันมาฆะบูชา จากนั้นจึงกำหนดให้วันมาฆะบูชาเป็นวันสรงน้ำหลวงพ่อเพชร ถือเป็นประเพณีของอำเภอเชียงของในทุก ๆ ปี ซึ่งครบรอบ 83 ปี ในปีนี้ (พ.ศ. 2548)

...............................................................

“หลวงพ่อเพชร” เป็น พระพุทธรูปบูชาขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย(สิงห์หนึ่ง) สมัยเชียงแสน

องค์พระสูง 50 นิ้ว ฐานเตี้ย 5 นิ้ว แบบบัวหงาย เฉพาะฐานลงรักปิดทอง หน้าตักเฉพาะองค์พระกว้าง 40 นิ้ว รวมฐานกว้าง 43 นิ้ว

พระโมลี เป็นลักษณะบัวตูม (ปัจจุบันไม่ใช่ของเดิม พระโมลีของเดิมได้สูญหายไปขณะที่เคลื่อนย้ายมาครั้งแรก) พระเกศ เป็นเกลียวเหมือนก้นหอย แถวหน้า นับแต่ต้นพระกรรณ(หู) ด้านขวาขององค์พระถึงด้านซ้ายมี 15 เส้น

พระพักตร์อิ่มเอิบ พระเนตรเบิกกว้าง พระเนตรมีสีขาว และสีดำแจ่มใส มองเห็นได้ชัด พระหนุ(คาง)บุ๋ม พระศอ (คอ) มีรอยวงแหวน 4 วง ริมพระโอฐด้านซ้ายและขวางามงอน เป็นรูประจับสวยงามมาก

ลำพระองค์ นั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาวางพาดเข่า พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพรา(ตัก) พระหัตถ์ซ้าย หล่อเป็นท่อนแยกต่างหาก ถอดออกจากพระพาหา (แขน)ได้ มีลิ่มสลักสำหรับถอดเข้า-ออกได้ และนิ้วชี้งอยกขึ้นเหมือนจะกระดิกได้ นิ้วพระหัตถ์อ่อนช้อยสวยงาม เหมือนมีชีวิต ฝ่าพระบาททั้ง 2 เป็นรอยกงจักรที่มองเห็นได้ชัด

สังฆาฎิ พาดบนพระอังสะ ลงมาถึงบนราวนม ปลายผ้าสังฆาฏิแบ่งเป็นแฉกแยกกัน หลวงพ่อเพชร แม้จะทรงครองจีวร แต่ยังมองเห็นหัวถัน ดูคล้ายไม่มีผ้าจีวรปิด (อันทำให้ผู้เชี่ยวชาญการดูพระพุทธรูปถือว่าเป็นสิงห์หนึ่งรุ่นแรก สมัยเชียงแสน)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: วัดศรีดอนชัย ม.12 ต.เวียง อ.เชียงของ จ. เชียงราย

โทร / แฟ็กซ์ :: -

โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: -