ประตูเมืองเชียงแสน
เมืองเชียงแสนเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของแคว้นสุวรรณโคมคำ แคว้นโยนกนาคพันธ์ และแคว้นหิรัญนครเงินยาง ตามลำดับ หลังการสถาปนาเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.1839 โดยพญามังราย กษัตริย์แห่งเมืองเงินยาง เมืองเงินยางจึงถูกปล่อยให้รกร้าง
กระทั่ง พญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 3 พระราชนัดดา (หลาน) ของพญามังราย ทรงฟื้นฟูเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ.1871 โดยสร้างขึ้นบนเมืองเก่าที่ร้างไปแล้ว คาดว่าเป็นการสร้างทับเมืองเงินยางในอดีต ทำให้บางครั้งเราได้ยินคนพูดถึงชื่อเมืองนี้ว่า เมืองเงินยางเชียงแสน หรือ หิรัญนครเงินยาง ทั้งนี้ก็หมายถึง เมืองเชียงแสน นั่นเอง
เมื่อสร้างเมืองเสร็จ พญาแสนภูก็ประทับที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ เป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างเชียงแสนคือการวางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางตอนบนและป้องกันข้าศึกทางด้านทิศเหนือ โดยเฉพาะพวกมองโกล ช่วงเวลานั้นเมืองเชียงแสนถูกยกระดับให้มีความสำคัญเหนือเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
ในสมัยราชวงศ์มังราย เมืองเชียงแสนเป็นสมรภูมิรบในสงครามสำคัญหลายครั้งของล้านนา เช่น ศึกกับราชวงศ์หมิง 2 ครั้ง ศึกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2101 ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า เมืองเชียงแสนกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพม่าในล้านนาตอนบน กระทั่ง พ.ศ.2346 เมืองเชียงใหม่และพันธมิตรจึงขับไล่พม่าออกไปจากเชียงแสนได้สำเร็จ ส่งผลให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากราษฎรถูกผู้ชนะกวาดต้อนลงไปอยู่ทางใต้ เช่น บ้านช่างฆ้อง บ้านลอยเคราะห์ บ้านเชียงแสน เมืองเชียงใหม่, บ้านปงสนุก เมืองลำปาง, บ้านคูบัว เมืองราชบุรี, บ้านเสาไห้ เมืองสระบุรี เป็นต้น
จนถึงปี พ.ศ.2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ จึงให้เจ้าอินต๊ะ (ราชบุตรเจ้าบุญมา เจ้านครลำพูน) นำราษฎรเมืองลำพูนราว 1,500 ครอบครัว (ส่วนใหญ่เป็นคนยอง) ขึ้นมาตั้งรกราก ปักซั้งตั้งถิ่น อยู่ที่เมืองเชียงแสนจวบจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่บ้านแม่คำสบเปิน บ้านห้วยน้ำราก จนถึงเวียงเชียงแสน
กำแพงเมืองเชียงแสนที่เราเห็นในเวลานี้ สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพญาแสนภู ผังเมืองเชียงแสนมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลียมผืนผ้า ไม่สม่ำเสมอ ขนาดกว้าง 700 วา ยาว 1,500 วา เนื้อที่ประมาณ 1,240 ไร่ กำแพงเมืองมี 2 ชั้นคั่นด้วยคูน้ำ (บางตำนานกล่าวว่ามี 3 ชั้น) ทอดตัวล้อมรอบเมือง ด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำโขงเป็นปราการธรรมชาติ มีประตูเมือง 11 ประตู ดังนี้
1. ประตูยางเทิง ทางเหนือ
2. ประตูหนองมูต ทางตะวันตก
3. ประตูเชียงแสน หรือ ประตูป่าสัก ทางตะวันตก เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่ตัวเมือง
4. ประตูทัพม่าน ทางตะวันตก
5. ประตูดินขอ ทางใต้
6. ประตูท่าอ้อย ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
7. ประตูท่าเสาดิน ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
8. ประตูท่าหลวง ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
9. ประตูท่าวิสุกรรม ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
10. ประตูท่าคราว ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
11. ประตูท่ารั้วปีก ทางตะวันออก ริมแม่น้ำโขง
แนวกำแพงและประตูเมืองทางด้านทิศตะวันออก (หมายเลข 6-11) ถูกแม่น้ำโขงพัดเซาะพังทลายลงในน้ำ โดยเมื่อประมาณ 60-70 ปีก่อน ยังปรากฏให้เห็นประตูท่าคราวอยู่ ปัจจุบันคงเหลือแต่แนวกำแพงและประตูทางด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก เท่านั้น
เมืองเชียงแสนมีป้อมทั้งหมด 7 ป้อม มีลักษณะเป็นป้อมรูปโค้งครึ่งวงกลมคล้ายเกือกม้า ได้แก่ ป้อมประตูยางเทิง ป้อมประตูหนองมูต ป้อมประตูเชียงแสน (มี 2 ป้อม) ป้อมประตูทัพม่าน และป้อมแจ่งหัวริน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ภายในเวียงเชียงแสนและนอกเมืองยังมีโบราณสถานที่น่าไปเยี่ยมชมอีกหลายแห่ง เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุจอมกิตติ เป็นต้น