คัมภีร์ใบลานเรื่องกาเผือก ได้กล่าวไว้ว่า มีพญากาเผือก ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำต่อมาแม่กาเผือกได้ออกไข่ ๕ ฟอง วันหนึ่งเมื่อสองกาเผือกออกไปหาอาหาร เกิดฝนตกฟ้าคะนองพายุใหญ่พัดกระหน่ำ ไข่ทั้งหมด ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลกระจายไปคนละทาง แม่กาเผือกเมื่อกลับมาถึงรังไม่เห็นไข่ ก็พยายามตามหาแต่ก็ไม่พบ ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ แม่กาเผือกไม่สามารถระงับความอาลัยได้จึงสิ้นใจตาย ด้วยอานิสงส์แห่งความรักเมตตาลูก จึงได้ไปเกิดอยู่แดนพรหมโลกชั้นสุธาวาส ชื่อท้าวฆติกามหาพรหม
ส่วนไข่แต่ละฟองก็มีผู้นำไปฟักเลี้ยง และในเวลาต่อมา พระโพธิสัตว์ ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ ปรากฏเป็นมนุษย์ รูปร่างสวยสดงดงาม ทั้ง ๕ พระองค์ พอโตเป็นหนุ่ม ชายทั้งห้า ต่างก็ออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญบารมีอยู่ในป่า อยู่มาวันหนึ่งได้เหาะไปหาอาหารผลไม้ และบำเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงคุตตระปิฎฐา ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลบารมีธรรม ฤาษีทั้ง ๕ ก็ได้มาพบกัน จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน จึงได้รู้แต่ว่า แต่ละคนมีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จึงได้ร่วมกันตั้งสัจจะอธิฐาน ขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วยอำนาจธรรมอันบริสุทธิ์ของฤาษีทั้ง ๕ คำอธิษฐานจึงดังก้องไปถึงพรหมโลก ท้าวฆติกามหาพรหม (แม่กาเผือก) จึงจำแลงเป็นแม่กาเผือกลงมาปรากฏฤาษีทั้ง ๕ ก็รู้ด้วยญาณทัศนะว่า นี่แหละเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วยความสำนึกในบุญคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก ก่อนจากกัน ฤาษีทั้ง ๕ จึงกราบขอรอยเท้าของแม่กาเผือกเอาไว้บูชา แม่กาเผือกจึงนำเอาฝ้ายมาฟั่น เป็นรูปตีนกาให้ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ (เป็นที่มาของประเพณีจุดประทีปโคมไฟ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (เทศกาลยี่เพง ลอยกระทง) ต่อมาฤาษีทั้ง 5 ได้บำเพ็ญบารมีจนได้เก้าพันปีทิพย์ จึงได้เสวยชาติลงมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ตามลำดับ คือ
องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ ตามนามแม่เลี้ยงที่เป็นไก่
องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคมโน ตามนามแม่เลี้ยงเป็นนาค
องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสโป ตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า
องค์ที่ ๔ มีพระนามว่า พระโคตโม(องค์ปัจจุบัน) ตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
องค์ที่ ๕ มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรยโย ตามนามแม่เลี้ยงที่ เป็นราชสีห์
(พระศรีอริยเมตไตรยโย เป็นพระพุทธเจ้าที่จะทรงอุบัติในอนาคต)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: วัดเชตวัน ตั้งอยู่มุมสี่แยก ติดกับ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ ๑๕ มีบริเวณกว้างขวาง ร่มรื่นมาก เรียกอีกชื่อว่า วัดกาเผือก
โทร / แฟ็กซ์ :: -
โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: -