วัดโบราณเวียงเดิม ซึ่งมีอาคารเสนาสนะและอาคารถาวรวัตถุต่าง ๆ เป็นที่อยู่อาศัยศึกษาปฏิบัติธรรม และประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของพุทธศาสนิกชนทุกคน ทั้งทางด้านจิตใจและกิจกรรมตามประเพณี นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางบริการทางการศึกษา และทางสังคม วัดโบราณสถานเวียงเดิม ตั้งอยู่เลขที่ 2 ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา กระทรวงศึกษาธิการประกอบยกฐานะวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2529 มีพระอธิการสมคิด ฉายา อนามโย อายุ 47 พรรษา 16 นักธรรมเอก เป็นเจ้าอาวาส
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านเวียงเดิม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูป อายุกว่า 600 ปี ตามด้วยการพบแนวอิฐ ซากกำแพงและซุ้มประตูวัด พร้อมด้วยวัตถุโบราณอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ข่าวการพบพระพุทธรูปโบราณได้แพร่สะพัดไป มีผู้คนจากทั่วสารทิศมานมัสการขอพรหลวงพ่อโบราณอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันขออนุญาตตั้งวัดขึ้นมาใหม่ในบริเวณนั้น ให้ชื่อว่า วัดโบราณเวียงเดิม
วัดโบราณเวียงเดิม มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกฐานะวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2529 มี พระอธิการสมคิด อนามโย อายุ 47 ปี พรรษา 16 นักธรรมเอก ขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูโบราณบุรานุรักษ์และยังคงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโบราณเวียงเดิม ภายในบริเวณวัดมีอาคารเสนาสนะและถาวรวัตถุต่าง ๆ เป็นที่อยู่อาศัยศึกษาปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของพุทธศาสนิกชน ทั้งทางด้านจิตใจและกิจกรรมตามประเพณี นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางบริการทางการศึกษาและทางสังคมเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในพื้นที่
พระครูโบราณบุรานุรักษ์ เปิดเผยว่า ภายในวัดมีพระพุทธรูปโบราณล้ำค่า พระพักตร์คล้ายพระสิงห์ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร สำหรับประวัติการค้นพบพระพุทธรูปโบราณดังกล่าวมีความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งดังนี้ ย้อนอดีตกลับไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2515 ตรงกับเดือน 9 เหนือ ขึ้น 1 ค่ำ ปีชวด ปีจุลศักราช 1334 ขณะนั้นทางฝ่ายปกครองโดยอำเภอเมืองเชียงราย (ในอดีตบ้านเวียงเหนือขึ้นตรงกับอำเภอเมืองเชียงราย) ได้สั่งการให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในตำบลเวียงเหนือ นำชาวบ้านพัฒนาถนนหนทาง ภายในหมู่บ้านซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อจากการสัญจรใช้งานของยวดยานต่าง ๆ นายวงศ์ มโนวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านเวียงเดิมในขณะนั้นจึงได้ชักชวนชาวบ้านพากันไปขุดดินที่จอมปลวกในป่าท้ายหมู่บ้านที่มีแต่ต้นไผ่และก้อนอิฐเก่าซึ่งชาวบ้านเคยพูดคุยกันว่าเป็นวัดร้างเพื่อนำเอาเศษอิฐและดินมาถมหลุมบ่อบนถนนเพื่อทำให้ถนนเรียบ
ขณะที่ต่างคนต่างออกแรงใช้จอบขุดดินและขนดินช่วยกันอยู่นั้นได้มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อนายฟอง สุดา ได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูปลงไปจากผิวดินไม่ลึกมากนัก จึงได้แจ้งแก่ผู้ใหญ่บ้านนำชาวบ้านมาช่วยกันขุดลงไปจนเห็นเป็นพระพุทธรูปองค์ที่สมบูรณ์ พระพักตร์คล้ายพระสิงห์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 73 นิ้ว สูง 82 นิ้ว สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพุทธลักษณะคือ พระพักตร์กลม พระขนงโก่งไม่ทำเป็นสันนูน เซาะเป็นร่องลึกบริเวณเหนือขอบพระเนตร พระเนตรเหลือบดำ พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระหนุเป็นปม แนวพระศกโค้งมาบรรจบกันเป็นรูปปีกกาเหนือพระนลาฏ เม็ดพระศกเป็นตุ่มกลมเรียงต่อเนื่องอย่างมีระเบียบ พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง เส้นขอบจีวรและสังฆาฏิ มีแนวเส้นเดียว สังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดเล็ก ยาวต่ำกว่าพระถัน นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการวัดรวมถึงชาวบ้านในขณะนั้นจึงได้ทำเรื่องแจ้งให้กรมศิลปากร หน่วยที่ 4 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าพระพุทธรูปองค์นี้ สร้างในพุทธศตวรรษที่ 19 อายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี และมีการสันนิษฐานว่าในบริเวณนี้อดีตอาจเป็นวัดร้างมาก่อน โดยได้วิเคราะห์จากหลักฐานที่ขุดค้นพบแนวอิฐ ซากกำแพง และซุ้มประตูโบราณ ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาต่อพระพุทธรูปองค์นี้เป็นอย่างมาก จึงตั้งชื่อว่า หลวงพ่อโบราณ หลังจากนั้นได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นมา ณ สถานที่แห่งนี้โดยใช้ชื่อว่า วัดโบราณเวียงเดิม และได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานภายในวิหาร หลังจากนั้นพุทธศาสนิกชนที่ทราบข่าวการขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณองค์นี้ต่างพากันเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและชมความงดงามของพระพุทธรูปกันอยู่ตลอดเวลา
ในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยา ศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. จึงร่วมกับจังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการ พัฒนาแหล่งเรียนรู้อารยธรรมท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย สนับสนุนชุมชนบ้านเวียงเดิม ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดโบราณเวียงเดิมขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากวัด กรมศิลปากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้าน ในการรวบรวมวัตถุโบราณที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ที่ขุดค้นพบมาจัดแสดง
ด้วยเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงได้เห็นภาพความมุ่งมั่นและร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในการนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทำมาหากินด้านการเกษตรที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเทคโนโลยีพื้นบ้านมามอบให้กับวัดเพื่อร่วมจัดแสดงอีกมากมาย ซึ่งเป็นเสมือนชิ้นงานความรู้ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อหรือหลักการพื้นฐาน ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมที่เจริญงอกงาม ตลอดจนความเป็นระเบียบแบบแผนที่เคยยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
จากประสบการณ์ด้านบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ของ อพวช. จึงมาช่วยเติมเต็มให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงที่เก็บของเก่าเท่านั้น หากแต่เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนบ้านเวียงเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ พร้อมสอดแทรกแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนออกมาจากภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านจากวัตถุสิ่งของที่นำมาจัดแสดง เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน ให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเกิดความรักและอยากอนุรักษ์สิ่งมีคุณค่าเหล่านี้ให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป
แม้จะเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แต่ในการรับรู้ของชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือความภาคภูมิใจของชุมชน สำหรับ อพวช. เอง นี่เป็นก้าวใหม่ในการเดินหน้าพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นพร้อมไปกับการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่อีกมากมายในประเทศไทยที่รอหน่วยงานที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาจัดกระบวนการเรียนรู้และเสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เข้าไป เพื่อให้แหล่งเรียนรู้เหล่านั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: วัดโบราณเวียงเดิม ม.2 ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จังหวัดเชียงราย
โทร / แฟ็กซ์ :: -
โฮมเพจ / เว็บไซต์ :: -