การเดินทาง : การเดินทางไปภูหลงถัง ให้เดินทางจากอำเภอเมืองเชียงราย ผ่าน อ.เวียงชัย หนองหลวง
ผ่าน อ.พญาเม็งราย ถึง อ.ขุนตาล ถนนลาดยางตลอดสาย ระยะทาง 60 กิโลเมตร รวมระยะทาง 861 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 2 จาก จ.พะเยา ระยะทาง 708 กิโลเมตร ออกจากจังหวัดพะเยาผ่าน อ.จุน อ.เชียงคำ อ.เทิง
สู่อำเภอขุนตาล ระยะทาง รวม 830 กิโลเมตร
ภูหลงถัง อยู่ห่างจากถนนเทิง-ขุนตาล-เชียงของเพียง 6 กม. เส้นทางก็ไม่คดเคี้ยวเหมือนงู นั่งรถตู้ได้สบายไม่ต้องกลัวอาการพะอืดพะอมจะกำเริบแต่อย่างใด นั่งมาเรื่อยๆ ชมวิวข้างทางเพลินๆ ยังไม่ทันไรก็ถึงจุดหมาย สัมผัสแรกที่ลงจากรถตู้ คืออากาศสดชื่น ลมพัดเย็นฉ่ำ มีแดดจ้าแต่ไม่ร้อน
ภูหลงถง หรือดอยพญาพิภักดิ์เป็นอีกดอยที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวจะได้ชมวิวสวยๆ จากมุมสูงด้วยลักษณะที่ดอยแห่งนี้เป็นยอดเนิน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร จึงทำให้มองเห็นตัวอำเภอถึง 4 แห่ง ได้แก่ อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเทิง แถมยังมองเห็นยอดภูชี้ฟ้าได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีมนต์ขลังด้วยเรื่องราวในอดีตที่แอบซุกซ่อนไว้ให้ได้ค้นหาติดตาม
คำถามแรกเกิดขึ้นในใจ ทำไมต้องชื่อภูหลงถัง ? ก็ได้คำตอบจาก วิชาญ ภิวงศ์ รองนายกเทศมนตรี จังหวัดเชียงรายว่า สมัยก่อนในช่วงที่ยังรบกันอยู่ก็มีทหารจีนคณะชาติมาช่วยรบ ทหารคนหนึ่งสังเกตเห็นว่ามีตาน้ำผุดขึ้นมาจากพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่ง โดยรอบรายล้อมด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เขาก็อยากทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสระน้ำ กักเก็บน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน บวกกับมีความเชื่อว่าน่าจะมีงูใหญ่หรือมังกรอาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้มาก่อน จึงตั้งชื่อให้ว่า 'หลงถัง' เป็นชื่อภาษาจีนกลางซึ่งคำว่าหลงแปลว่า มังกร ส่วนคำว่าถังแปลว่า สระน้ำ แปลเป็นไทยก็คือ สระมังกร นั่นเอง และในปัจจุบันทางผู้บริหารส่วนท้องถิ่นก็เห็นชอบว่าให้ใช้ชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อภูหลงถังด้วย เพื่อให้เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว
ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ที่นี่ในอดีตเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ต่อมาทางเทศบาลอยากพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ให้สวยงามสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงมีการปรับปรุงสระมังกรใหม่ให้สวยงามมากขึ้นรวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ
"เมื่อก่อนการเดินทางยังลำบาก ถนนเป็นทางดินลูกรังสีแดง รถขนาดใหญ่เข้ามาไม่ได้ ต่อมามีการตัดถนนโดยกรมทางหลวงชนบททำให้เดินทางสะดวกขึ้นในอนาคตถ้าหากสะพานข้ามแม่น้ำโขงเสร็จเรียบร้อย ข้างล่างมีถนนหนทางพร้อมในการรับส่งสินค้าต่างๆ ก็คิดว่าที่นี่จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดเชียงรายได้ด้วย" เจ้าหน้าที่พาชมจุดต่างๆ พร้อมอธิบายไปด้วย
เที่ยวชมสักพักก็ได้รับชมการแสดงของน้องๆ จากโรงเรียนบ้านพญาพิภักดิ์ที่ชื่อ 'ระบำตำข้าว' ซึ่งทางเจ้าภาพตั้งใจจัดมาให้แขกบ้านแขกเมืองชมกันน้องๆ แต่ละคนจดจ่อกับการแสดงมาก คิดว่าคงเพราะกลัวลืมท่ารำกระมัง บวกกับมีเวลาซักซ้อมน้อยไปหน่อย อันนี้ไม่ว่ากัน แค่เห็นความตั้งใจในแววตาใสๆ ของทุกคนก็มีความสุขแล้ว
ในแง่หนึ่ง ภูหลงถังมีความสวยงามของวิวทิวทัศน์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและถ่ายรูปได้หลากหลายมุมไม่รู้เบื่อ และอีกแง่หนึ่งที่นี่เหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ในอดีตปี 2497 เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับขบวนการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จมาเยี่ยมทหารหาญ และพสกนิกรชาวอำเภอเทิงและอำเภอใกล้เคียง ในวโรกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนปูนปลาสเตอร์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง ซึ่งพระบารมีของพระองค์ช่วยให้การสู้รบในคราวนั้นยุติลงได้ในที่สุด
มาถึงที่แล้วแนะนำให้ไปชมรอยพระบาทจำลองที่วนอุทยานพญาพิภักดิ์ด้วย เหตุที่บอกว่าจำลองเพราะรอยพระบาทของจริงประดิษฐานอยู่ที่ ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งรายมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีความพยายามที่จะขอรอยพระบาทของจริงกลับคืนมาประดิษฐานที่วนอุทยานฯ แห่งนี้เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้าน
ปัจจุบัน ภูหลงถังมีความงดงามทางภูมิทัศน์ วัฒนธรรม และมีไม้เมืองหนาวสวยๆ ให้ได้เลือกชม ส่วนบริเวณวนอุทยานพญาพิภักดิ์ ก็มีลานกางเต็นท์ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนำมาเองและกางได้ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้
เรียกว่ามาแบบแบ็คแพ็คก็ได้ ทั้งประหยัด สะดวก และได้ผ่อนคลายไปกับธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์