• เปิดดู
    903
ศาลารอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          

เริ่มจากสถานการณ์ก่อการร้ายในจังหวัดในปีพ.ศ.๒๔๙๗ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานจำนวนเดินทางเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อแสวงหาแนวร่วมพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเขาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน รวมทั้งพื้นที่ชายแดนด้านจังหวังพะเยาในปัจจุบันบางส่วนภายหลังจากสามารถปลุกระดม ชาวเขาได้บางพื้นที่จนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้คัดเลือกส่งไปอบรมวิชาการเมืองการทหารรุ่นแรก ที่เมืองฮัวมินห์ ประเทศธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อกลับมาเตรียมงานในพื้นที่ไว้รอรับสมาชิก พคท. ซึ่งได้เดินทางเข้าสู่ พื้นที่จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการชี้นำด้านการเมืองและการทหาร

 

        เมื่อสามารถขยายเขตงานได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง พคท. จึงเปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่ในภาคเหนือขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านน้ำปาน ต.นาไร่หลวง อ.ทุ่งช้าง จ.น่านเมื่อ ๒๖ ก.พ. ๒๕๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นวัน "เสียงปืนแตก" ของ พคท. ในเขตภาคเหนือ จากนั้นได้ขยายการต่อสู่เรื่อยมา โดยในวันที่ ๙ พ.ค. ๒๕๑๐ ได้มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลที่ บ้านห้วยชมภู ต.ยางฮอม อ.เทิง จ.เชียงราย (เป็นครั้งแรก ในเขตพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น)นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ พคท. สามารถจัดตั้งฐานที่มั่นในภาคเหนือได้ถึง ๙ แห่ง และฐานที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ ฐานที่มั่น ดอยยาว-ดอยผาหม่นจ.เชียงราย พคท. ได้จัดตั้งคณะทำงานในรูป "คณะกรรมการจังหวัดเชียงราย" แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น ๔ เขตงาน คือ เขตงาน ๕๒ เขตงาน ๙ เขตงาน ๗ และเขตงาน ๘ 

 

        สำหรับพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่นเป็นพื้นที่ควบคุมของ เขตงาน ๘ ในเขต อ.เทิง และอ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมทั้งพื้นที่ อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาลในปัจจุบันนี้ ด้วยกองกำลังติดอาวุธของ พคท. ขณะนั้นมีประมาณ ๖๐๐ คน มีมวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง อีกประมาณ ๒,๓๐๐ คน

 

        ความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการสร้างทางและการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง การสู้รบสมรภูมิแห่งนี้เกิดขึ้นหลายยุทธการ เช่น ยุทธการอิทธิชัย (วีรกรรมดอยม่อนเคอ) ยุทธการขุนห้วยโป่งและยุทธการเกรียงไกร (วีรกรรมเนิน ๑๑๘๘ พญาพิภักดิ์)

 

   โดยใช้กำลังทหารในพื้นที่ จ.เชียงราย เข้าปฏิบัติการตรวจล้างและปราบปราม ผกค.ตามคำสั่ง ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค๓ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ - พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงสามารถกำชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือ พคท.

 

       ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พัน.ร.๔๗๓ ซึ่งมี พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร เป็นผบ.พัน(ตำแหน่งปกติผบ.ร.๑๗ พัน.๓) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ ดอยยาว - ดอยหม่น ตามแผนการเพื่อต่อสู่เอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดยุทธการยึดเนิน ๑๑๘๘ บนยอดดอยพญาพิภักดิ์ได้ ทำให้ พคท. ล่มสลายในที่สุด

 

       ในวันที่ ๒๗ ก.พ. ๒๕๒๕  ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราชองค์จอมทัพไทย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เพื่อทรงเยี่ยมทหารกล้าและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ บนสันดอยยาว อ.เทิง จ.เชียงราย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาพระราชทานประทับรอยพรบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่เตรียมไว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวงนับตั้งบัดนั้นเป็นต้นมา

 

       ปัจจุบัน รอยพระบาทฯ คู่หนึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ศาลารายพระบาทกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของกำลังพลคู่กับอนุสาวรีย์ผู้เสียสละสืบต่อไปอีกคู่หนึ่งเก็บรักษาไว้ที่จังหวัดเชียงรายเนื่องในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระเจริญ พระชนมพรรษา ๖ รอบนั้นเป็นวโรกาสมิ่งมหามงคลอันพิเศษยิ่งที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจักได้แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรด้วยการร่วมมือร่วมใจสร้างหอพิพิธภัณฑ์รอยพระบาท ร.๙ ไว้เป็นถาวรวัตถุที่ทรงคุณค่าและเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติสืบไป

 

      เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ คณะกรรมการจัดงานนิทรรศการ "พระก่อพระเกื้อหล้า" ได้ทราบความเรื่องรอยพระบาทฯและเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์นี้จึงได้ขอความร่วมมือมายัง กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่ออันเชิญรอยพระบาทฯไปร่วมจัดนิทรรศการ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๗ ธันวาคม ๒๕๔๒ และได้อัญเชิญกลับมาวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ ในงานครั้งนี้มีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมจำนวนมากอีกทั้งมีการแพร่ภาพทางรายการโทรทัศน์หลายช่อง คำถามส่วนใหญ่ คือ รอยพระบาทเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้สร้างและมีแรงดลใจอย่างไรจึงขอพระราชทานของสิ่งนี้มีขั้นตอนเตรียมการและวิธีการทำได้อย่างไร มีจุดมุ่งหมายทำเพื่ออะไร ไม่เกรงกลัวบารมีบ้างหรืออย่างไร ฯลฯ ซึ่งความสนใจในเหล่านี้คงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความในใจใคร่รู้ของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น หากได้มีการก่อสร้างหอพิพิธภัณฑ์รอยพระบาท ร.๙ และจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ส่วนนี้ให้ไว้กับประชาชนได้ทราบความเป็นมาและเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนความทรงจำถึงความยากลำบากของการแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนแห่งนี้ก็จะเป็นส่วนทำให้เกิดความรู้สึกรักชาติหวงแหนแผ่นดินและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

 

      ปัจจุบันรอยพระบาท รัชกาลที่ ๙ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลารอยพระบาทหลังใหม่ ตั้งอยู่บนดอยโหยด ภายในบริเวณค่ายเม็งรายมหาช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่จะทรงพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม  ๒๕๕๐ “ โครงการก่อสร้างศาลารอยพระบาท และศาลาทรงงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ”เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ใน๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ และเป็นสถานที่ให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายได้เคารพสักการะ และเป็นสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายต่อไปรวมทั้งเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ประชาชน ให้สำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้แสดงออกถึงความกล้าหาญในการทรงเยี่ยมทหาร  ณ พื้นที่เสี่ยงภัย  โดยไม่คำนึงถึงภยันตราย

 

       สถานที่ตั้ง : บนดอยโหยด ภายในค่ายเม็งรายมหาราช ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย

 

       วัน/เวลาเปิด-ปิด  :  เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐–๑๘.๐๐ น.

 

      การเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว : รถยนต์ จักรยานยนต์ รถโดยสาร (สามารถขึ้นทางด้านหลังของค่ายเม็งรายมหาราช)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :: กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โทร / แฟ็กซ์ :: 053-711205

โฮมเพจ / เว็บไซต์ ::