ประกาศเกียรติคุณจาก หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความคิดผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นต่างไปจากกรอบสังคมเดิม ๆ ระหกระเหินเข้าป่าปักหลักต่อสู้และยึดมั่นในแนวทางแห่งตนนำมาสู่วีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่ง จ.เชียงราย ความทรงจำสีเลือดและความกล้าหาญ เมื่อ 37 ปีก่อน ถูกจารึกเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำเมื่อวันวาน
ระยะทาง 15 กิโลเมตร เลาะเลียบริมฝั่งโขง ใน อาณาเขตของภูหลวง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงรายภายใต้ขุนเขาที่โอบล้อมเต็มไปด้วยป่าทึบรกร้างไร้ผู้คนชาวบ้านกลุ่มหนึ่งดั้นด้นเข้าไปบุกเบิกแผ้วถาง ตั้งเป็นชมรมหมู่บ้านชื่อว่า บ้านห้วยกว๊าน
หนึ่งในผู้บุกเบิกมีชื่อของ กวง หนุ่มฉกรรจ์เต็มวัย แม้วันนี้เขาจะสู่วัยชราล่วงเข้าวัย 75 ปีแล้วก็ตามแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ยังแจ่มชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
ด้วยพื้นที่เป็นป่าเขารกร้างไร้ผู้คน จึงเหมาะแก่การตั้งฐานปฏิบัติ ซุ่มซ่อนเร้นตัวออกจากสังคม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) กลุ่มหนึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ ณ ที่นี้เอง และนี้จึงเป็นที่มาของวีรกรรม 3 ผู้กล้าแห่งจังหวัดเหนืออสุดแดนสยาม นามว่า เชียงราย
การเคลื่อนไหวของ ผกค.กลุ่มนี้อยู่ในสายตาทางการมาโดยตลอด ยามใดที่ยกกำลังเข้าปราบปรามไม่ได้ผล ทางการจึงหันมาใช้สงครามจิตวิทยา ดึงมาเป็นพวกในนามผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แล้วเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็บังเกิดขึ้น
12 กันยายน 2513 ระหว่างการทำสงครามกวาดล้าง ผกค.อย่างหนัก ประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็ได้รับแจ้งจาก สงัด สิทธิ ผู้ใหญ่บ้านห้วยกว๊านว่า มี ผกค. จำนวนกว่า 30 คน ต้องการเข้ามองตัวต่อทางการ ในเวลา 10.00 น. วันที่ 20 กันยายน 2513 หรืออีก 8 วันข้างหน้า โดยมีจุดนัดพบกันที่ดอยหลวงแปรเมือง เขตติดต่อ อ.เชียงของ กับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
การนัดหมายครั้งนี้มีข้อแม้ว่า พ่อเมืองเชียงรายต้องเป็นคนมารับมอบตัวด้วยตัวเอง!!!
8 วันที่เหลือหมดไปกับการตระเตรียมการรับมอบตัวกลุ่ม ผกค. และแล้ววันเวลานัดแนะก็มาถึง ประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พ.อ.จำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะ รวม 9 คน ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 20 กันยายน 2513 มุ่งตรงไปยังดอยหลวงแปรเมือง จุดนัดพบทันที
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่ม ผกค. แจ้งขอเปลี่ยนจุดมองตัว จากเดิมบนดอยหลวงแปรเมือง มาเป็นบ้านห้วยกว๊านในปัจจุบัน ห่างจากจุดนัดพบเดิมออกไปราว 1 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อ 37 ปีก่อน เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยโตรกผาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน
ด้วยความไว้วางใจและเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจทั้งคณะของทางการจึงไม่มีใครพกพาอาวุธติดตัวไปด้วยเลยแม้แต่คนเดียว ดูเหมือนทุกคนจะไม่เฉลียวใจเลยว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ทั้งคณะก้าวลงจากเฮลิคอปเตอร์มุ่งตรงไปยังจุดนัดพบตามที่กลุ่ม ผกค. นัดแนะไว้
ก้าวต่อก้าวที่คืบไปข้าวหน้า ใกล้เข้าไป ๆ จู่ๆ สิงที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น ห่ากระสุนจากอาวุธสงครามนานาชนิด ทั้งเอ็ม 16 คาร์บิน และอาก้า แหวกตัดอากาศมาจากทุกสารทิศ ดังสนั่นกลบสรรพสิ่งในป่าทึบ ระยะเวลานับตั้งแต่กระสุนนัดแรกระเบิดขึ้นจนถึงจัดสุดท้ายเงียบเสียงลงกันเวลายาวนานถึง 15 นาที
ร่างอันชุ่มโลกเลือดของผู้กล้า 3 คน อันได้แก่ ผู้ว่าฯ ประหยัด ผู้กำกับฯ ศรีเดช และผู้ช่วย จำเนียร กองอยู่กับพื้น ระหว่างเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความฉุกละหุกอันหมายถึงความเป็นความตายและความอยู่รอดนี้ คณะผู้ติดตามผู้ว่าฯ ประหยัด ต่างตะเกียกตะกาย หลบเข้าหาที่กำบังเอาตัวรอด
ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 คน คือ ร.ต.อ. อำนวย เพชรยัง ตำรวจ สภ.อ.เชียงแสน และ สมบูรณ์ พรหมเมศร์ นายอำเภอเชียงแสน สามารถหลบหนีมายังฐานที่ตั้งหน่วย ตชด. ปฏิบัติการพิเศษ ต.บ้านแซว จากนั้นรายงานเหตุร้ายจึงถูกส่งตรงไปยังหน่วยตำรวจและทหารใกล้เคียง เพื่อส่งกำลังสนับสนุนเข้าไปกู้ศพผู้เสี่ยงชีวิตทั้ง 3คน
ไม่นานนักกำลังพลจากหน่วยพลร่ม มณฑลทหารบกที่ 3 และ ตชด. ค่ายเม็งรายมหาราช จึงเข้าเคลียร์พื้นที่เกิดเหตุ เกิดการปะทะกับกลุ่ม ผกค. อีกระลอก ซึ่งกินเวลานานกว่าครึ่งค่อนวัน กว่า ผกค.จะล่าถอยออกไป ปล่อยให้เจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่และนำศพผู้กล้าออกจากจุดเกิดเหตุ
จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนของฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในป่ามากถึง 100 ปลอก !!!บ่งบอกให้รู้ว่ากลุ่ม ผกค.มีการตระเตรียมแผนไว้แล้วล่วงหน้า และลงมือกระหน่ำยิงเมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาอยู่ในวิถีกระสุน
หลังเกิดเหตุ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและกำชับให้หาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว โดยมอบหมายให้ พล.ท.สายหยุด เกิดผล รองผู้บัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น เป็นหัวเรือใหญ่ ตั้งประเด็นการสังหารไว้ 2 ประเด็น คือ กลุ่มคนร้ายรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการมอบตัว จึงวางแผนลองสังหาร กับการสร้างแผนลวงเพื่อลอบสังหารโดยตรง
ผลการสอบสนยังผลให้ สงัด สิทธิ ผู้ใหญ่บ้านห้วยกว๊าน ผู้ให้ข่าว ผกค. ติดต่อขอเข้ามอบตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ เก้าฟ่ง แซ่จาง พร้อมพวกอีก 6 คน ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยนำตัวมาสอบปากคำและถูกลงโทษในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ความกล้าหาญและความเสียสละของทั้ง 3 คน ดำเนินจากอดีตมาสู่ปัจจุบันอย่างเงียบเหงา โดดเดี่ยว มีเพียงไม่กี่คนที่รู้และจดจำเรื่องราวในวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้ กระทั่งอีก 34 ปีต่อมา จึงมีคนเล็งเห็นคุณค่า จัดสร้างอนุสรณ์สถาน 3 ผู้กล้าพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ขึ้น ณ บ้านห้วยกว๊านเหนือ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สถานที่เกิดเหตุจริงเมื่อครั้งอดีต
อนุสรณ์สถานผู้กล้า
อนุสรณ์สถาน 3 ผู้กล้า พตท. ณ บ้านห้วยกว๊านเหนือ มีขนาดความสูง 12 เมตร ทำด้วยสเตนเลส ฐานกว้าง 4 เมตร ทำด้วยหินอ่อน ฐานด้านหน้าจารึกประวัติและภาพถ่ายของทั้ง 3 ผู้กล้า ยอดเป็นสามเหลี่ยมให้ความหมายองค์รวม หมายถึง สถาบันสูงสุดของชาติ และเป็นรากฐานแห่งความเสียสละใช้งบประมาณจากภาคราชการ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรประชาชน ออกแบบโดย กนก วิศวะกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ด้านศิลปวัฒนธรรม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยภาครัฐและเอกชน ทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2547 หรือภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นมาแล้ว 34 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังปรากฎร่องรอยของการเคารพบูชาจากคนรุ่งหลัง ๆ ที่แสดงออกด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน มาเคารพผู้กล้าทั้ง 3 คน
ผู้ว่าฯ เกียรติยศ
นาประหยัด สมานมิตร
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของ นายเข็มและนางเยื้อน สมานมิตรเกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2468 ที่ ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาชั้นสูงสุด ระดับปริญญาโท ทางการบริการงานนครหลวง จากมหาวิทยาลัยพิต์สเบิร์ก สหรัฐเอริกา
เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนมหาดไทย อ.เมือง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2491 และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับชั้น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และย้ายดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2513
นายประหยัด สมานมิตร สมรสกับ คุณหญิงรัตนา (บุณยะรัตเวช) ไม่มีบุตรด้วยกัน และเสียชีวิตจากวีรกรรม 3 ผู้กล้า พตท. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2513 เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเกียรติศักดิ์ไทย ที่ประชาชนชาวเชียงรายและชาวไทยขอยกย่องให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเกียรติยศแห่งชาติ
พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน
พ.ต.อ. ศรีเดช ภูมิประหมัน อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของ นายมีและนางมนภูมิประหมัน เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2469 ณ บ้านข้าวหลาม ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 6 เมื่อปี 2495 เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2498 ชั้นพลตำรวจ โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 3 จ.สกลนคร และเจริญก้าวในหน้าที่การงานตามลำดับ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ คือ พ.ต.อ. ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (เทียบเท่าตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน)
พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน สมรสกับนางกาญจนาภรณ์ มีบุตรด้วยกัน 4 คน เสียชีวิตจากวีกรรม3 ผู้กล้า พตท. เมือวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นยศจาก พ.ต.อ. เป็นพล.ต.ท.
พ.อ.จำเนียร มีสง่า
พ.อ.จำเนียร มีสง่า ผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 3 เป็นบุตรของ นายโห้และนางเขียนมีสง่า เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2468 ณ บ้าแพน ต.พุดเลา อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา
จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2488 เริ่มเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2889 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จ.อุบลราชธานี จนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2512 ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 3
พ.อ.จำเนียร มีสง่า สมรสกับ นางบุญเรือน มีบุตรด้วยกัน 5 คน เสียชีวิตจากวีรกรรม 3 ผู้กล้า พตท.เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2513 ได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นยศจาก พ.อ.เป็น พล.ท
แหล่งข่าว: หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ประจำวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550 คอลัมน์ พลิกแฟ้มคดีดัง ปีที 6 ฉบับที่ 1954 หน้า 2