ประมวลภาพกิจกรรม
ประกาศเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565 เปิดดู 1251 ครั้ง ย้อนกลับ พิมพ์
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร ครั้งที่ 1/2565


วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น.
               นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางสาวมณฑา กิติมา นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมฯ
               ด้วยจังหวัดเชียงราย ได้พิจารณาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านการเกษตร ประเด็นการขับเคลื่อนเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งสมุนไพร โดยพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมเกษตร “สมุนไพร” ให้ครบกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่ม ประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพสมุนไพรโดยกระบวนการ “การขับเคลื่อนเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งสมุนไพร" โดยเน้นการบูรณาการจากทุกภาคส่วน อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่าย ให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
               สำหรับข้อมูลด้านการตลาดสมุนไพรของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 มีแนวโน้มปรับราคาลดลงในกลุ่มสมุนไพรทั่วไป ยกเว้นสมุนไพรบางชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย และขิง ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากฟ้าทะลายโจร กระชาย และขิง มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ทำให้ได้รับความนิยมและประชาชนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐบาล เพื่อทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริมและยารักษาโรค
               ทั้งนี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แนะควรคัดเลือกพืชสมุนไพรท้องถิ่นของจังหวัดเชียงรายที่น่าสนใจ เพื่อนำมาผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย โดยให้จัดตั้งคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อค้นหาและนำเสนอพืชสมุนไพร ก่อนที่จะดำเนินการขับเคลื่อนส่งเสริมพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ จากนั้นในที่ประชุม ได้เสนอชื่อพืชสมุนไพรท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย ที่น่าสนใจ อาทิ ขิง ผักคาวตอง (พลูคาว) สมุนไพรเลือดมังกร ดอกเก๊กฮวย ผักจิงจูฉ่าย และสะค้าน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่มีจุดเด่นและสพรรคุณที่แตกต่างกันไป โดยจะนำชื่อพืชสมุนไพรดังกล่าว นำเสนอเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไป